วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2565) พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดตัวระบบการยื่นขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-Extension” (Electronics Extension of Temporary Stay in The Kingdom : e-Extension) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยโครงการนี้เป็นดำริของ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องการพัฒนาระบบการให้บริการ แก่ประชาชน เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้มารับบริการผ่านระบบออนไลน์ สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนา ให้เข้าสู่การเป็นภาครัฐทันสมัย พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้สานต่อการดำเนินงานดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วง
เนื่องจากในแต่ละปีมีคนต่างด้าวยื่นขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวมากกว่า 2 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้มาขอรับบริการเป็นจำนวนมาก ทำให้คนต่างด้าวใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลารอเข้ารับบริการประมาณ 1-2 ชั่วโมง
การให้บริการขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Extension) นับเป็นมิติใหม่ของการยื่นขออนุญาตอยู่ต่อในประเทศไทย เป็นการยกระดับและสร้างมาตรฐานการให้บริการคนต่างด้าวรูปแบบใหม่ด้วยการยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรและ ชำระเงินค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ คนต่างด้าวสามารถดำเนินการกรอกข้อมูลได้ด้วยตนเองตลอดเวลาผ่านระบบออนไลน์ และเข้ามาพบเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันตัวบุคคล และรับสติ๊กเกอร์วีซ่าโดยใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที เท่านั้น
โดยนำร่องให้บริการในระยะแรกสำหรับคนต่างด้าวที่มีถิ่นพำนัก หรือมีสถานที่ทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปิดให้บริการในส่วนของเหตุผลหรือความจำเป็น จำนวน 12 เหตุผล ดังนี้
- การท่องเที่ยว
- ครูในสถานศึกษาของรัฐ
- ศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ
- ปฏิบัติงานในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- กลับภูมิลำเนาเดิมของผู้มีสัญชาติไทย
- ครอบครัวผู้มีถิ่นที่อยู่
- ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน
- ฝึกสอน ค้นคว้าวิจัยในหน่วยงานรัฐ
- ติดตั้งซ่อมแซมเครื่องจักร อากาศยาน หรือเรือเดินทะเล
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์
- ผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะ
- สถานทูตหรือสถานกงสุลให้การรับรองและร้องขอ